จับตาภาษีศุลกากรตอบโต้ของ “ทรัมป์” ดีเดย์เรียกเก็บทุกประเทศครอบคลุมประเทศคู่ค้าที่ค้าไม่เป็นธรรมและไม่สมดุลกับสหรัฐ “ไทย” ติดบ่วงไม่รอดแน่ เหตุค้าขายเกินดุลสหรัฐสูงเป็นอันดับต้น ๆ จนไม่เกิดสมดุลทางการค้าระหว่างกัน ด้านหอการค้า-สอท.ประสานเสียงตั้งรับต้องหาตลาดใหม่ เร่งเจรจา FTA ส่วน สนง.พาณิชย์ประจำสหรัฐเชื่อสหรัฐขึ้นภาษีแบบผ่อนปรนยังเปิดช่องเจรจาต่อรองกันได้
วันที่ 2 เมษายนนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์จะประกาศอัตราภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) โดยจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าให้เท่ากับอัตราที่ประเทศคู่ค้าเรียกเก็บจากการนำเข้าสินค้าสหรัฐ โดยอัตราภาษีตอบโต้ใหม่จะถูกคำนวณมาจากรายงานการทบทวนนโยบายด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนกับประเทศคู่ค้าสหรัฐเพื่อตอบโต้การทำการค้าที่สหรัฐเห็นว่า ไม่เป็นธรรมและไม่สมดุล (Unfair and Unbalanced Trade)
วมไปถึงประเทศที่ใช้มาตรการที่มิใช่ภาษีและเป็นอุปสรรคต่อการค้าของสหรัฐด้วย โดยพุ่งเป้าไปที่ประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐเป็นอันดับต้น ๆ โดย 1 ในนั้นก็คือ ประเทศไทย ที่เป็นฝ่ายได้ดุลการค้ากับสหรัฐอยู่ในอันดับที่ 11 (35,427.6 ล้านเหรียญ) เมื่อสิ้นปี 2567
ตั้งทีมไทยแลนด์เจรจา USTR
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า กรณีทรัมป์ 2.0 จะมีผลต่อการค้าการลงทุนและอุตสาหกรรมไทย โดยที่ผ่านมา หอการค้าได้เสนอแนวคิด “Team Thailand” เพื่อสร้างความร่วมมือให้เกิดประสิทธิภาพ โดยเห็นว่า จำเป็นจะต้องเร่งเดินหน้าและเข้าไปเจรจากับผู้แทนการค้าของสหรัฐ (USTR) โดยทางสหรัฐเองก็ต้องรอการเจรจาการซื้อขาย โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเกษตร ข้าวโพด ถั่วเหลือง เนื้อหมู เป็นต้น
“ต้องดูว่า วันที่ 2 เมษายนนี้สหรัฐจะขึ้นภาษีสินค้าอะไรเพิ่ม และจะมีประเทศอะไรบ้าง ดังนั้นประเทศไทยจำเป็นจะต้องเตรียมรับมือ พร้อมที่จะเข้าไปเจรจากับสหรัฐ ซึ่งสิ่งที่ต้องติดตามโดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่ไทยได้ดุลการค้ากับสหรัฐต้องเข้าไปดูในรายละเอียด ซึ่งบางสินค้าเป็นกลุ่มที่สหรัฐเข้ามาลงทุนในไทยเพื่อการส่งออก และบางส่วนเป็นกลุ่มนักลงทุนจีนที่เข้ามาลงทุนในไทยที่ได้รับผลกระทบจากทรัมป์ 1.0 ก่อนหน้านี้ และต้องดูว่า มีการใช้วัตถุดิบภายในประเทศหรือนำเข้ามา เพราะอาจจะมีผลกระทบในการถูกขึ้นภาษี
“มีรายการสินค้าไทยที่ต้องให้ความสำคัญและจะต้องติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด ได้แก่ สินค้าอัญมณี, สินค้าเกษตร และอาหาร ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการไทย และมีมูลค่าการส่งออกในปริมาณที่สูง โดยต้องการให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาคุยกับภาคเอกชนและทำความเข้าใจ เพราะเอกชนถือว่าเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบและเป็นส่วนที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สำหรับทิศทางในการส่งออกปี 2568 อยู่ที่ 1.5-2.5%” นายพจน์กล่าว
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ควรจะต้องตั้งรับและสร้างกลไกความร่วมมือขึ้นมา โดยเฉพาะการผลักดันเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น FTA ไทย-อียู FTA อาเซียน-แคนาดา FTA ไทย-ญี่ปุ่น รวมถึงกลไกการสร้างความร่วมมือระหว่างไทย-จีน และประเทศอื่น ๆ เพื่อสร้างโอกาสทางการค้าและดึงการลงทุนเข้ามาในประเทศ สร้างแนวทางการรับมือความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการกีดกันทางการค้าด้วย
นายชนินทร์ ชลิศราพงศ์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และในฐานะประธานคณะกรรมการธุรกิจประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง กล่าวว่า การเดินหน้าเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือ FTA เป็นสิ่งที่ประเทศไทยควรที่จะเร่งเดินหน้า
โดยเฉพาะกรอบเจรจาทั้ง 3 ข้อตกลง คือ FTA อาเซียน-แคนาดา, FTA ไทย-UAE และ FTA ไทย-EU โดยหากสามารถสรุปข้อตกลงและมีผลบังคับใช้ภายในปีนี้ จะทำให้ GDP ไทยขยายตัวเพิ่ม 1% อีกทั้งจะช่วยให้ไทยลดข้อเสียเปรียบกับเวียดนามได้เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้การผลักดันกรอบเจรจายังส่งผลให้ภาคการลงทุนเพิ่มขึ้น การส่งออกขยายตัว อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งยกระดับทั้งในเรื่องสิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม การศึกษา เพื่อสร้างโอกาสและข้อได้เปรียบให้กับประเทศไทย โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร ซึ่งคิดเป็น 20% ของการส่งออก
โดยคาดหวังว่าหากมีการเร่งผลักดัน แล้วภายในระยะ 5 ปีข้างหน้าจะทำให้มูลค่าของการส่งออกเพิ่มขึ้นเป็น 2.5 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 25% ของมูลค่าการส่งออก ซึ่งปัจจุบันมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 1.9 ล้านล้านบาท คิดเป็น 20% เพราะต้องยอมรับว่าในอุตสาหกรรมดังกล่าวนั้น 90% เป็นผู้ประกอบการไทย
สอท.แนะตลาดใหม่-FTA
ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวว่า การขึ้นภาษีรอบนี้ของทรัมป์เป็นที่น่ากังวลอยู่แล้ว และยังเป็นการบ่งบอกว่า ทรัมป์ทำตามนโยบายด้านการค้าตามที่ได้ประกาศไว้ ขณะที่ประเทศไทยได้ดุลการค้ากับสหรัฐติดต่อกันมานานและมีมูลค่าสูง แน่นอนว่า ไทยต้องได้รับผลกระทบเกือบจะทุกรายการสินค้าที่ส่งออกไปสหรัฐ
อย่างเช่น รถยนต์ทั้งเก๋งและกระบะ ซึ่งน่าจะทำให้ตลาดส่งออกรถของไทยปี 2568 ต่ำกว่า 1 ล้านคัน และก่อนหน้านี้ก็ถูกขึ้นภาษีนำเข้าเหล็ก-อะลูมิเนียมไปแล้ว 25% (Section 232) แค่ 2 รายการนี้ก็มูลค่าถึง 300,000 ล้านบาทแล้ว
ส่วนการหาตลาดส่งออกใหม่ “ยังคงเป็นเรื่องที่จำเป็นมาก” เพราะต้องลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐให้ได้เหมือนกับที่จีนทำ ซึ่งจีนเองหันมาบุกตลาดอาเซียนเพราะเป็นตลาดใหญ่ มีประชากรกว่า 600 ล้านคน และขยายไปตามเส้นทาง One Belt One Road (OBOR) “ซึ่งไทยควรเกาะไปด้วย”
ขณะเดียวกันควรมองตลาดอาเซียนด้วยกันเองและขยายออกไปตลาดเอเชียกลาง, แอฟริกา, อเมริกาใต้, ตะวันออกกลาง, กลุ่มประเทศ GCC ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย-คูเวต-โอมาน-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์-กาตาร์-บาห์เรน กับกลุ่ม BRICS มีประเทศสมาชิก 9 ประเทศ ได้แก่ บราซิล-รัสเซีย-อินเดีย-จีน-แอฟริกาใต้-เอธิโอเปีย-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์-อียิปต์-อิหร่าน เพื่อกระจายสินค้าให้ได้มากที่สุด ควบคู่กับการที่รัฐต้องเร่งเจรจา FTA-EU ให้สำเร็จ
ให้ดูเหตุผลขึ้นภาษีไทย
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกรรมการ บริษัท มหาบูรพาผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ในฐานะนายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า ไม่ว่าสหรัฐมีการประกาศขึ้นภาษีสินค้ากับประเทศใดก็ตาม สิ่งที่ประเทศไทยหรือภาคเอกชนจะต้องเตรียมรับมือก็คือ “การพิจารณาวิธีการและเหตุผลในการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าของสหรัฐ” เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาและนำไปสู่การเจรจาต่อรอง โดยจากการติดตามข้อมูลและหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เบื้องต้นได้มีการตั้ง “ทีมเจรจา” ไว้แล้วเพื่อที่จะเข้าไปพูดคุยหารือกับสหรัฐ
ขณะนี้เห็นว่า มีการเตรียมพร้อมและข้อมูลไว้ในเบื้องต้นแล้ว และเชื่อว่า หากสินค้าไทยโดนอัตราภาษีนำเข้าก็ยังมั่นใจว่า ยังมีทางออกในการเข้าไปเจรจาระหว่างการส่งออกไทย-สหรัฐอยู่บ้าง เพราะเมื่อดูในรายละเอียดโดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ที่ไทยเป็นฝ่ายเกินดุลสหรัฐ โดยสินค้ารายการดังกล่าวเป็นสินค้าที่สหรัฐเข้ามาลงทุนในไทยเพื่อผลิตและส่งออก ซึ่งไม่ใช่ส่งออกเข้าสหรัฐเพียงอย่างเดียว แต่ส่งออกไปทั่วโลก
ส่วนสินค้าในกลุ่มเกษตรและอาหาร ต้องยอมรับว่า “มีความกังวลอยู่บ้าง” แต่เมื่อดูปริมาณการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ไปสหรัฐก็ยังมีปริมาณไม่มาก ดังนั้นจึงยังต้องดูในรายละเอียดว่า สหรัฐจะมีการขึ้นภาษีในสินค้ากลุ่มนี้หรือไม่ เป็นสินค้าอะไรและเท่าไหร่ อีกทั้งจะมีผลบังคับใช้เมื่อใด
แต่สิ่งที่ต้องมองก็คือ สินค้ากลุ่มเกษตรและอาหารของไทยยังคงได้เปรียบและต้องรักษาไว้ คือ การรักษาคุณภาพ เวลาการส่งมอบ ความปลอดภัย การสร้างความมั่นคงห่วงโซ่อาหาร และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค
“หากสินค้าโดนภาษี ขณะที่เศรษฐกิจชะลอตัว จะมีผลในการแข่งขันทางด้านราคาสูง และความต้องการนำเข้าสินค้าในราคาที่ถูก ก็ยังมองว่าเราคงจะต้องรักษาคุณภาพ เพราะหากเศรษฐกิจดีขึ้น ความต้องการสินค้าดีมีคุณภาพยังคงมีอยู่” นายวิศิษฐ์กล่าว
ทูตพาณิชย์เชื่อขึ้นภาษีแบบผ่อนปรน
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศประจำสหรัฐอเมริกา รายงานความคืบหน้านโยบายการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศคู่ค้าของสหรัฐ โดยยังคงเชื่อว่า จะเป็นการขึ้นภาษีแบบผ่อนปรน (Lenient) และอาจมีข้อ “ยกเว้น” ให้กับบางประเทศและบางรายการสินค้า ซึ่งจะประกาศรายละเอียดในวันที่ 2 เมษายนนี้ ความเชื่อดังกล่าวมาจากลักษณะการดำเนินมาตรการของทรัมป์ที่มักเป็นลักษณะของการ “โยนหินถามทาง” เพื่อวัดปฏิกิริยา ซึ่งในกรณีนี้ก่อให้เกิดความกังวลในตลาดและอุตสาหกรรมสหรัฐ รวมถึงกระตุ้นให้ประเทศคู่ค้าเตรียมมาตรการตอบโต้
สำหรับสินค้าที่ถูกขึ้นภาษีแล้ว เช่น เหล็กและอะลูมิเนียมจากทุกประเทศ ถูกขึ้นภาษีแล้ว 25% มีผลบังคับใช้วันที่ 12 มีนาคม 2568, รถยนต์จากทุกประเทศ ถูกขึ้นภาษีแล้ว 25% มีผลบังคับวันที่ 2 เมษายน 2568
ส่วนสินค้าที่ถูก “ขู่” ว่า จะขึ้นภาษี ได้แก่ 1) ไม้ (Lumber) อาจจะถูกขึ้นภาษี 25% ปัจจุบันอยู่ในกระบวนการสอบสวนของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ 2) Semiconductor อาจจะถูกขึ้นภาษี 25% หรือสูงกว่า 3) เวชภัณฑ์ อาจจะถูกขึ้นภาษี 25% หรือสูงกว่า 4) สินค้าเกษตร อาจจะถูกขึ้นภาษี แต่ยังไม่ได้กำหนดอัตราภาษี
และ 5) แผงวงจรไฟฟ้า (Integrated Circuits) อาจจะถูกขึ้นภาษี แต่ยังไม่ได้กำหนดอัตราภาษี โดยกลุ่มประเทศที่อาจได้รับผลกระทบหนัก (ความเห็นของ USTR) ก็คือ ประเทศที่สหรัฐเสียดุลการค้าสูงมาก หรือ “Dirty 15” ได้แก่ จีน, เม็กซิโก, เวียดนาม, เยอรมนี, ญี่ปุ่น, ไอร์แลนด์, เกาหลีใต้, แคนาดา, ไต้หวัน, อินเดีย, มาเลเซีย, อิตาลี, สวิตเซอร์แลนด์, อินโดนีเซีย และประเทศไทย
นอกจากนี้ยังมีการประเมินมาตรการตอบโต้สหรัฐของประเทศคู่ค้าที่ถูกขึ้นภาษีจะมี 4 รูปแบบ คือ 1) แข็งกร้าว ด้วยการประกาศขึ้นภาษีตอบโต้และควบคุมธุรกิจสหรัฐ แนวทางนี้จะถูกใช้โดยจีนและแคนาดา ซึ่งเป็นแหล่งอุปทานนำเข้าสินค้าสำคัญที่สหรัฐจำเป็นต้องใช้ 2) ตอบโต้แบบมีเงื่อนไขให้สหรัฐปฏิบัติตาม กรณีเม็กซิโก เจรจาให้สหรัฐต้องหาทางป้องกันการค้าอาวุธผิดกฎหมายจากสหรัฐเข้าเม็กซิโก
3) เจรจาลดผลกระทบหรือหวังลดหรือหลบหลีกการตกเป็นเป้า เช่น อังกฤษและอินเดีย (รวมถึงเวียดนามและเกาหลีใต้ ที่ประกาศจะลดภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐและซื้อสินค้าสหรัฐเป็นการเพิ่มเติม) และ 4) หันไปค้ากับประเทศอื่น เช่น แคนาดาหันไปค้ากับยุโรป
จับตานำเข้ายุทธปัจจัย
สำหรับรายการสินค้าหลักไทยส่งออกไปยังสหรัฐมากที่สุด 5 อันดับแรกปี 2567-2568 (ม.ค.-ก.พ.) ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ มูลค่า 10,567.84 ล้านเหรียญ (ม.ค.-ก.พ. ปี 2568 มูลค่า 1,952.54 ล้านเหรียญ), ผลิตภัณฑ์ยาง 4,503.69 ล้านเหรียญ (ม.ค.-ก.พ. 785.28 ล้านเหรียญ), เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ 1,282.75 ล้านเหรียญ (ม.ค.-ก.พ. 551.60 ล้านเหรียญ), เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 4,657.14 ล้านเหรียญ (ม.ค.-ก.พ. 538.82 ล้านเหรียญ) และอัญมณีและเครื่องประดับ 1,974.13 ล้านเหรียญ (ม.ค.-ก.พ. 459.26 ล้านเหรียญ)
ส่วนรายการสินค้าหลักที่ไทยนำเข้าจากสหรัฐมากที่สุด 5 อันดับแรกของปี 2567-2568 (ม.ค.-ก.พ.) ได้แก่ น้ำมันดิบ 3,689.18 ล้านเหรียญ (ม.ค.-ก.พ. ปี 2568 มูลค่า 688.85 ล้านเหรียญ), ยุทธปัจจัย 55.60 ล้านเหรียญ (ม.ค.-ก.พ. 294.67 ล้านเหรียญ), เครื่องจักรและส่วนประกอบ 2,171.41 ล้านเหรียญ (ม.ค.-ก.พ. 287.46 ล้านเหรียญ), เคมีภัณฑ์ 1,303.50 ล้านเหรียญ (ม.ค.-ก.พ. 198.88 ล้านเหรียญ) และเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ 938.98 ล้านเหรียญ (ม.ค.-ก.พ. 169.03 ล้านเหรียญ... อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.prachachat.net/economy/news-1785722